หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 09


การลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

          คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการของร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (3 มิถุนายน 2551) อนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคม (คค.) ดำเนินการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่าง ICAO กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 3 ปี และปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาบังคับใช้แล้ว ในครั้งนี้ คค. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการของร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมด้านการบินในภูมิภาค ซึ่งการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ เช่น บุคลากรของไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบิน ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานของอุตสาหกรรมและบริการการบินของประเทศไทย 

          2. เดิม ICAO ได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และใช้ทรัพยากรด้านสถานที่และบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ในการฝึกอบรม และ ICAO จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรที่ฝึกอบรม ผู้เชี่ยวชาญ การอนุมัติหลักสูตรการฝึกอบรมมาตรฐาน (Standard Training Packages : STPs) สำหรับโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินจากประเทศกำลังพัฒนา

          3. ในครั้งนี้ คค. มีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมด้านการบินในภูมิภาค จึงมอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประสานกับ ICAO จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ภายใต้ความร่วมมือกับ สบพ. ในการจัดเตรียมหลักสูตรฝึกอบรม1 เพื่อบริหารจัดการโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความร่วมมือเกี่ยวกับการบริหารจัดการหลักสูตรการฝึกอบรมของ กพท. และให้ทุนแก่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

 

รายละเอียด

(1) คู่ภาคี

 

ประกอบด้วย

- รัฐบาลไทย โดย กพท. ภายใต้ความร่วมมือกับ สบพ.

- ICAO โดยสำนักพัฒนาขีดความสามารถและการปฏิบัติการ (Capacity Development and Implementation Bureau)

(2) ขอบเขตความร่วมมือ

 

- รัฐบาลไทยและ ICAO จะร่วมกันกำหนดขอบเขตการฝึกอบรมที่จะจัดให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติของ ICAO และเพื่อให้การบินพลเรือนสามารถฟื้นตัวได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

- รัฐบาลไทยและ ICAO จะร่วมกันกำหนดประเทศกำลังพัฒนาที่จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการฝึกอบรม โดยประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเป็นประเทศสมาชิก ICAO ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรมด้านการบิน

- ICAO จะเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกเสนอชื่อผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม หลังจากนั้นจะแจ้งผลการคัดเลือกให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดที่ได้เสนอชื่อทราบ

- สบพ. จะติดต่อประสานงานโดยตรงกับผู้สมัครจากประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับคัดเลือก ในเรื่องการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมของผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกตามลำดับ

(3) ทุนการฝึกอบรม

 

ทุนการฝึกอบรมจำนวน 51 ทุน วงเงิน 156,471.11 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.54 ล้านบาท)2 ซึ่งจะได้รับเงินทุนจากรัฐบาลไทย3 โดยประเทศของผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนการฝึกอบรมจะต้องรับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบินสำหรับผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือก

(4) ข้อผูกพันภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ

 

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่มีเจตนาที่จะสร้างภาระผูกพันทางกฎหมายใดๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

(5) การแก้ไข เปลี่ยนแปลงและความขัดแย้งภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ

 

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย และความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะได้รับการแก้ไขโดยการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย

(6) ระยะเวลาบังคับใช้

 

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม และสิ้นสุดเมื่อใดก็ได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 6 เดือน โดยโครงการฝึกอบรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจะเริ่มดำเนินการภายใต้วันที่ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หรือเมื่อร่างบันทึกความเข้าใจฯ สิ้นสุดลง

 

          4. ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว เช่น (1) ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมของอุตสาหกรรมและบริการการบินในภูมิภาค ผ่านการส่งเสริมให้บุคลากรของไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานของอุตสาหกรรมและบริการการบินของไทย (2) ส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ (3) การส่งบุคลากรเข้ามาศึกษาและฝึกอบรม ณ ประเทศไทยจะนำมาซึ่งแหล่งนำรายได้เข้าสู่ประเทศที่สำคัญอีกด้วย

______________________________

1สบพ. ได้จัดเตรียมหลักสูตรฝึกอบรมมีการส่งเสริมในเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และหลักสูตรที่ สบพ.

มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่

 (1) หลักสูตรการฝึกอบรมในด้านการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมของการบิน (ICAO CORSIA Verification) จำนวน 16 คน และอบรมจำนวน 3 วัน (ภายในเดือนเมษายน - มิถุนายน 2567)

 (2) หลักสูตรการจัดการด้านความปลอดภัย (ICAO Safety Management for Practitioners) จำนวน 20 คน และอบรมจำนวน 5 วัน (ภายในเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567)

 (3) หลักสูตรการจัดการด้านความปลอดภัย (ICAO State Safety Programme) จำนวน 15 คน และอบรมจำนวน 6 วัน (ภายในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2567)

2ทุนการฝึกอบรม 5.54 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ค่าธรรมเนียมหลักสูตร (รวมค่าอาหารกลางวันและค่าที่พัก) ประมาณ 4.80 ล้านบาท (2) ค่าธรรมเนียมหรือค่าดำเนินการของ ICAO ประมาณ 0.57 ล้านบาท และ (3) ค่าเบี้ยเลี้ยง ประมาณ 0.17 ล้านบาท

3เงินทุนมาจากเงินรายได้ของ กพท. เช่น (1) ค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกนอกประเทศ (2) ค่าใบรับรองและใบอนุญาต และ (3) ค่าธรรมเนียมการสอบและการบริการ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 กรกฎาคม 2567

 

 

7704

Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!